ความเป็นมา
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามมาตรา ๗ ให้มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพและเทคโนโลยี มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่เน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพ ให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สังคม ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษามีโอกาสในการศึกษาต่อด้านวิชาชีพเฉพาะทางระดับปริญญาเป็นหลัก และด้วยมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาเป็นนิติบุคคล เพื่อให้สถานศึกษาของรัฐดำเนินการได้โดยอิสระ สามารถพัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัว มีเสรีภาพทางวิชาการและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานศึกษา ดังนั้น สมควรจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล จำนวน ๙ แห่ง ขึ้นแทนสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้านวิชาชีพและเทคโนโลยีที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูงที่มุ่งเน้นการปฏิบัติ ทำการสอน ทำการวิจัย ผลิตครูวิชาชีพให้บริการทางวิชาการในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มีฐานะเป็น ๑ ใน ๙ มหาวิทยาลัยตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล พ.ศ. ๒๕๔๘ นี้
ด้วยภารกิจในการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย ส่งผลต่อความจำเป็นในการจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้น เนื่องด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นสิ่งจำเป็นและความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งมีการแข่งขันแบบไร้พรมแดนท่ามกลางปัญหาและข้อจำกัดด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม แม้ว่าการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยในด้านชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายและอายุยืนนานขึ้น หากการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ โดยมิได้พิจารณาอย่างสุขุมรอบคอบและกว้างไกลแล้ว ย่อมเกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและความสมดุลทางธรรมชาติอย่างมหันต์ เมื่อมองไปข้างหน้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควรช่วยเตรียมให้มนุษย์มีความพร้อมที่จะเผชิญกับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต และปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้นในชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน จะต้องเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลา เกี่ยวข้องกับวิวัฒนาการทางด้านความรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ด้าน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้บุคคลในสังคม รู้จักวิธีการคิดอย่างมีเหตุผล มีวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่มีระบบ อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านสติปัญญาซึ่งวิธีการคิดนั้นเป็นวิธีเดียวกันกับที่ใช้อยู่ในกระบวนการแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การให้ความรู้หรือการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จะเป็นการเตรียมคนเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคต และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะยิ่งเกิดเพิ่มมากขึ้นในอัตรารวดเร็ว ขณะเดียวกันวิทยาศาสตร์ก็จะเข้ามามีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสังคมมากขึ้น
ในบริบทที่มหาวิทยาลัยฯ จะเปิดการเรียนการสอนนี้ เป็นแนวทางที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งเน้นการประยุกต์ในภาคทฤษฎีไปสู่ภาคปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้มีส่วนได้เสียและตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนและท้องถิ่น ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจของมหาวิทยาลัยฯ เพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่สําคัญจากทั้งภายนอกและภายในประเทศที่ปรับเปลี่ยนเร็วและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะข้อผูกพันในการเป็นประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ จึงจําเป็นต้องนําภูมิคุ้มกันที่มีอยู่พร้อมทั้งเร่งสร้างภูมิคุ้มกันในประเทศให้เข้มแข็งขึ้นมาใช้ในการเตรียมความพร้อมให้แก่คน สังคม และระบบเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถปรับตัวรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม สามารถพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์สุขที่ยั่งยืนของสังคมไทย อันจะเป็นการส่งเสริมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมฐานความรู้ ที่ทำให้ประเทศมีความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และรับมือกับประเด็นอุบัติใหม่ที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อประเทศ อาทิ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ การเผชิญกับวิกฤติอาหาร และพลังงาน การจัดการด้านการกีดกันทางการค้า การพัฒนาระบบสาธารณสุขแนวใหม่ และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ การจัดตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงดำเนินการขึ้นเพื่อผลิตบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเน้นวิทยาศาสตร์ประยุกต์และเทคโนโลยีเพื่อรองรับการขยายตัว ปัญหาและข้อจำกัดของทรัพยากรต่าง ๆ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการขยายขอบเขตและศักยภาพในการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์และเป็นการเพิ่มสัดส่วนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้นโดยคาดว่าในปี ๒๕๖๓ จะมีบัณฑิตจำนวน ๖๔๐ คนที่ออกสู่ตลาดแรงงาน และนำพาประเทศไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน